JIRAWAN.P

30 ก.ย. 2553

โรคสะเก็ดเงิน

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอย่างองค์รวมเป็นอย่างไร?
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน มีปัจจัยภายนอก ภายในร่างกายและปัจจัยทางด้านจิตใจของผู้ป่วยเป็นตัวกระตุ้นหรือส่งเสริมให้โรคกำเริบ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นผลของเหตุและปัจจัยหลายๆอย่างมากระทบกันแล้วทำให้ปรากฎอาการของโรคให้เห็น อาการของโรคจึงมีได้หลายรูปแบบ ยาหรือวิธีการรักษาโรคนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขที่ต้นเหตุ คือความ ผิดปกติทางพันธุกรรมที่ผู้ป่วยแต่ละคนมีอยู่ได้ การรักษาที่มีอยู่จึงเป็นเพียงการควบคุมอาการของโรคและรอเวลาให้ปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ ผ่านพ้นไปหรือแพทย์และผู้ป่วยสามารถหาปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบพบแล้วหาทางกำจัดปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น แพทย์ตรวจพบว่าโรคสะเก็ดเงินกำเริบเพราะมีการ
ติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ฟโตคอคคัสที่คอ แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะทำลายเชื้อสเตร็ฟโตคอคคัสที่คอพร้อมๆไปกับการให้ยาทา
ควบคุมผื่นผิวหนังอักเสบของผู้ป่วยร่วมไปด้วย ผู้ป่วยก็จะหายจากอาการของโรคได้ เป็นที่น่าเสียใจที่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักจะหาปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบไม่พบหรือบางครั้งหาพบแต่ผู้ป่วยและแพทย์ไม่สามารถกำจัดปัจจัยที่เป็น ตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบไปได้อย่างถาวร ตัวอย่างเช่น ความเครียด ความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ปัญหาทางด้าน
ครอบครัว อาชีพ การงานรวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวอื่นๆ การ
ควบคุมโรคสะเก็ดเงินให้ได้ดีจึงไม่ใช่การใช้ยาหรือพึ่งแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยและญาติต้องร่วมมือกับแพทย์สังเกตสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยแวดล้อมรอบตัวที่ทำให้โรคกำเริบ คือ ปัจจัยทางเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ทั้งภายนอกและภายในตัวผู้ป่วย รวมทั้งปัจจัยทางด้านจิตใจด้วย

หลักในการรักษาควบคุมโรคสะเก็ดเงินที่กำเริบ มีดังนี้
1. กำจัด หรือหลีกเลี่ยง ปัจจัยที่กระตุ้น หรือ สนับสนุนให้โรคกำเริบอาจจะเป็นปัจจัยที่อยู่แวดล้อมตัวผู้ป่วย หรืออยู่ในตัวผู้ป่วย
2. ควบคุมรักษา ผื่นหรือปื้นของโรคสะเก็ดเงินที่กำลังเห่อ ด้วยยาหรือแสงอัลตราไวโอเลตโดยเร็ว หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน
3. ผู้ป่วยและญาติ มีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก ในการดูแลรักษาผื่นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงิน กล่าวคือการทำจิตใจให้สงบเย็นไม่เร่าร้อน ศึกษาหาความรู้เรื่องโรคที่เป็นอยู่ แพทย์ผู้ดูแลรักษามีหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม หรือใช้แสงอัลตราไวโอเลตควบคุมโรค ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป ที่สำคัญแพทย์ควรให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องโรค วิธีการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนให้กำลังใจ และความเห็นอกเห็นใจ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้ทราบวิธีปฏิบัติตัว วิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง ทำให้ผลการรักษาบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหวังไว้ ผู้ป่วยและญาติควรทราบว่า แพทย์ไม่สามารถแก้ไข ความผิดปกติบางอย่างทางพันธุกรรมที่มีอยู่ในเซลล์ของผู้ป่วยได้ ดังนั้น การกำจัด หรือ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นหรือส่งเสริมให้โรคกำเริบจึงมีความสำคัญพอๆ กับการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการผื่นผิวหนังอักเสบ เพราะถ้าสามารถกำจัดปัจจัยเหล่านี้ไปได้ ผื่นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงินก็มีแนวโน้มที่จะสงบลง การใช้ยาหรือแสงอัลตราไวโอเลต จะสามารถควบคุมอาการของโรคได้โดยง่าย ผู้ที่จะทราบว่าปัจจัยกระตุ้นให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินกำเริบดีที่สุด คือผู้ป่วยและญาติที่อยู่ใกล้ชิด ดังนั้นทุกครั้งที่ผื่นโรคสะเก็ดเงินกำเริบเป็นโอกาสดีที่สุดที่ผู้ป่วยและญาติจะได้สังเกตและถามตัวเองว่า ได้ทำกิจกรรมอะไรหรือสัมผัสกับอะไรก่อนหน้าที่ผื่นของโรคจะกำเริบ หรือเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อซ่อนเร้นที่อวัยวะใด ได้รับหรือสัมผัสสารเคมีอะไร โดยเฉพาะยา หรือผิวหนังได้รับบาดเจ็บจากสภาวะทางกายภาพอะไรบ้าง เช่นการเสียดสีแกะเกา ปัจจัยทางด้านจิตใจก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเกิดและการกำเริบของโรค ผู้ป่วยที่มีความเครียด เร่าร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย ทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินเป็นมากขึ้นและไม่สงบ ปัญหาต่างๆ ทางด้านจิตใจ ผู้ที่รู้ดีที่สุดคือ ผู้ป่วยและญาติผู้ใกล้ชิด ทั้งผู้ป่วยและญาติควรได้รับการฝึกฝนทางด้านจิตใจ เพื่อให้รู้จักวิธีพิชิตความเครียด และปล่อยวางปัญหาต่างๆลงบ้าง จะช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยปลอดโปร่ง โล่ง สบาย เมื่อจิตใจสงบจะส่งผลไปยังร่างกายให้สงบเย็นลง ผื่นผิวหนังจะควบคุมด้วยยาได้ง่ายขึ้น ขอให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคสะเก็ดเงินทุกคนให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถเอาชนะใจตนเองพิชิตความเครียดและโรคที่เป็นอยู่ได้ทุกคน

แนวทางเลือกวิธีการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงิน
ผื่นโรคสะเก็ดเงินมีหลายชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใด อย่างไร หรือจะใช้แสงรักษาผื่นผิวหนังที่ผู้ป่วยเป็น ขึ้นกับลักษณะของผื่นและวิจารณญาณของแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษามีดังนี้
ลักษณะผื่น
ตำแหน่งของผื่น
ความกว้างของผื่น
ยาหรือเครื่องมือที่แพทย์มีอยู่
ความสะดวกและการยอมรับของผู้ป่วยและญาติ
ความชำนาญของแพทย์ที่เป็นผู้ดูแล

ลักษณะผื่น
ผื่นที่เป็นปื้นหนา ขนาดและจำนวนผื่น โดยรวมน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมด ควรเลือกใช้ยาทาเป็นหลัก ชนิดของยาทาที่เลือกใช้ขึ้นกับแพทย์ผู้ดูแลจะเห็นสมควร

ตำแหน่งของผื่น
ตำแหน่งของผื่นเป็นปัจจัยกำหนดในการเลือกรูปแบบของยาที่จะใช้ทา ตัวอย่างเช่น
ผื่นบริเวณหน้า ข้อพับแขน ขา อวัยวะเพศ การเลือกยาทาจะใช้ครีมสตีรอยด์ที่มีฤทธิ์ไม่แรงมากเพราะผิวหนังบริเวณนี้บอบบาง ยาจะซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ดีจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรง ยาทาในรูปขี้ผึ้งเหนอะหนะ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในบริเวณ
ข้อพับ
ผื่นที่ศีรษะหรือบริเวณผิวหนังที่มีขนมาก ยาทาที่เหมาะกับผิวหนังบริเวณนี้ในรูปโลชั่น Solution, Gel เพราะยากลุ่มนี้เป็นของเหลวซึมผ่านลงสู่หนังศีรษะได้ดี ยาในรูปขี้ผึ้งไม่เหมาะที่จะใช้บริเวณนี้
ผื่นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งมีผิวหนังชั้นขี้ไคลหนามาก ควรเลือกยาที่มีฤทธิ์แรงหรือยาทาในรูปขี้ผึ้งหรือน้ำมัน เพราะขี้ผึ้งทำให้ผิวหนังอุ้มน้ำและนุ่ม ยาจะซึมผ่านลงสู่ผิวหนังส่วนที่อยู่ลึกได้ดี เทคนิคอีกอย่างหนึ่งในการทำให้ยาซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดีคือการแช่ผิวหนังที่มีสะเก็ดหรือขุยหนาในน้ำอุ่นนาน 5-10 นาที ผิวหนังจะอุ้มน้ำและนุ่มขึ้น เช็ดผิวหนังบริเวณนั้นพอหมาดๆแล้วจึงทายา จะช่วยให้ยาซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังส่วนลึกได้มากขึ้น เคล็ดลับอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้ยาทาซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้มากขึ้น คือการใช้พลาสติกคลุมบริเวณผื่นที่ทายาแล้วปิดเทปกระดาษโดยรอบขอบพลาสติก เพื่อกันไม่ให้พลาสติกหลุดน้ำจากภายในร่างกายไม่สามารถซึมออกสู่ภายนอกได้ บริเวณนั้นจะชุ่มน้ำและนุ่มทำให้ยาซึมเข้าผิวหนังได้มากเป็น 10 - 100 เท่าของผิวหนังปกติ
ความกว้างของผื่น
ความกว้างของผื่นผิวหนัง บอกถึงความรุ่นแรงของโรคและ
เป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษา ผู้ป่วยที่มีผื่นผิวหนังอักเสบจากโรคสะเก็ดเงินกว้างมากกว่า ร้อยละ20-25 ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมดจัดเป็นผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยกลุ่มนี้เหมาะที่จะใช้ยารับประทาน ยาฉีด หรือใช้แสงอัลตราไวโอเลตในการรักษาโรค ไม่เหมาะที่จะใช้ยาทาเพราะการใช้ยาทามักไม่ทั่วถึงและต้องใช้ยาทาเป็นจำนวนมากทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
ยาหรือเครื่องมือที่แพทย์มีอยู่
สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลแต่ละแห่งมียาและเครืองมือทางการแพทย์ไม่เท่ากัน การเลือกวิธีการรักษาจึงขึ้นกับยาและเครื่องมือที่มีอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนั้นๆด้วย เนื่องจากยารับประทานบางชนิดมีราคาแพงและเป็นยาใหม่จึงมีอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ใหญ่ๆเท่านั้น แพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยจะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย
ความสะดวกและการยอมรับของผู้ป่วยและญาติ
ความสะดวกและการยอมรับวิธีการรักษาของผู้ป่วยและญาติ เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา เพราะมิเช่นนั้นผู้ป่วยและญาติจะไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น การรักษาด้วยแสงแดดเทียมผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งถ้าผู้ป่วยบ้านอยู่ไกลไปมาไม่สะดวก หรือผู้ป่วยต้องไปทำกิจการงาน เรียนหนังสือเป็นต้น วิธีการรักษานี้ก็จะไม่เหมาะ บางครั้งผู้ป่วยและญาติกลัวการฉายแสงแดดเพราะเข้าใจว่าเป็นรังสี x-ray ถ้าแพทย์ผู้ดูแลไม่ให้คำแนะนำหรืออธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ การรักษาในระยะยาวก็จะไม่ประสบผลสำเร็จเพราะผู้ป่วยไม่มารับการรักษาตามที่วางแผนการรักษาไว้
ความชำนาญของแพทย์ที่เป็นผู้ดูแล
ความรู้ความสามารถของแพทย์ผู้ดูแลก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการรัษาผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละรายไม่ควรคิดไปเองหรือเปรียบเทียบว่าวิธีการรักษาโรคของตนทำไมไม่เหมือนกับผู้ป่วยรายอื่น ควรปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลรักษาและซักถามให้เข้าใจปัญหาโรคของตนเองและปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำ
การดูแลรักษาสะเก็ดเงินของหนังศีรษะมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. กรณีที่ขุยบนหนังศีรษะไม่หนามาก แนะนำให้สระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดินร้อยละ 2-8 (Tar shampoo)
2. กรณีที่สะเก็ดหรือขุยบนหนังศีรษะหนาควรทำให้สะเก็ดบนหนังศีรษะนุ่มลงก่อน วิธีทำให้สะเก็ดนุ่มให้ใช้นำมันมะกอก หรือขี้ผึ้งผสม 1-3%Salicylic acid นวดหนังศีรษะทิ้งไว้ 4 ชั่วโมง หรือทิ้งไว้ข้ามคืน อาจสวมหรือครอบศีรษะด้วยผ้าหรือหมวกพลาสติกคลุมศีรษะทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้าสระผมด้วยน้ำอุ่นและแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน นวดให้ทั่วศีรษะทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วล้างน้ำออกใช้หวีซี่ถี่ๆค่อยๆขูดสะเก็ดบนหนังศีรษะออก ควรขูดเอาสะเก็ดบนศีรษะออกด้วยวิธีที่นุ่มนวลเพราะการขูดอย่าง
รุนแรงจะทำให้เกิดผื่นสะเก็ดเงินขึ้นใหม่
3. ทาหนังศีรษะด้วยสตีรอยด์ในรูป Lotion หรือ Solution
วันละ 2 ครั้ง ยาจะซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดีกว่าครีมหรือขี้ผึ้ง จะช่วยลดการอักเสบของหนังศีรษะ
4. การใช้วิตามินดี (Calcipotriol) ชนิด Solution นวดหนัง
ศีรษะก็สามารถลดการอักเสบของหนังศีรษะได้
5.เมื่อผื่นและสะเก็ดบนหนังศีรษะหายแล้วควรสระผมด้วยแชมพูยา สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อควบคุมการกลับเป็นซ้ำ
การดูแลรักษาผื่นสะเก็ดเงินของเล็บ
ความผิดปกติของเล็บในโรคสะเก็ดเงินพบได้บ่อย ความชุกของความผิดปกติที่เล็บพบตั้งแต่ร้อยละ 10- 55 เล็บมือเป็นมากกว่าเล็บเท้า ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินของข้อพบมีความผิดปกติของเล็บสูงถึงร้อยละ 70 ความผิดปกติของเล็บมืออาจพบเพียงเล็บเดียวหรือเป็นหลายเล็บ น้อยรายที่จะมีความผิดปกติทั้ง 20 เล็บ ลักษณะความผิดปกติของเล็บมีตั้งแต่ เป็นรอยบุ๋ม วงสีแดงเรื่อๆที่เล็บ จุดเลือดออกใต้เล็บ เล็บร่อนจากพื้นเล็บ จนถึงเล็บขรุขระผิดรูป
การดูแลรักษาเล็บที่ผิดปกติ ยังได้ผลไม่ดี ผู้ป่วยบางรายความผิดปกติของเล็บตอบสนองต่อยาทาสตีรอยด์ แต่ต้องทาเป็นเวลานานและควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะการทายา
สตีรอยด์ที่แรงเป็นเวลานานๆอาจทำให้เกิดผิวหนังบริเวณจมูกเล็บบางลง นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาทากลุ่มวิตามินดี (Calciprotriol ointment) ทาที่จมูกเล็บร่วมกับยาทาสตีรอยด์พบว่าได้ผลในผู้ป่วยบางราย เคล็ดลับในการทายาให้ได้ผลคือ ในรายที่มีขุยหรือสะเก็ดหนาใต้เล็บต้องทำให้สะเก็ดหลุด ยุ่ย เสียก่อนด้วย 30-40 % Urea หรือใช้ 10-20 % Salicylic acid ในรูปครีมหรือขี้ผึ้งทาทิ้งไว้ข้ามคืน ตัดหรือขูดสะเก็ดออกแล้วจึงทายาสตีรอยด์หรือ Calcipotriol ointment ผลการรักษาความผิดปกติของเล็บต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ ผู้ป่วยจึงต้องมีความอดทนในการทายา เมื่อได้พยายามรักษาจนเต็มที่แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ควรยอมรับ อย่าเครียดเพราะจะไม่เกิดผลดีต่อโรคโดยรวม ปัจจุบันยังคงมีการศึกษาทดลองใช้ยาใหม่ๆในการรักษาความผิดปกติที่เล็บอยู่ หวังว่าจะมีความคืบหน้าไปในทางที่ดี ในระยะเวลาอันใกล้นี้
ยาทารักษาโรคสะเก็ดเงิน
เมื่อเกิดผื่นแดงที่ผิวหนังของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน อาการที่พบร่วมด้วยคือ แสบร้อนหรือคัน แพทย์มีหน้าที่เลือกใช้ยาหรือแสงอัลตราไวโอเลตเพื่อควบคุมผื่นผิวหนังอักเสบ ยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมี 3 กลุ่ม คือ ยาทา ยารับประทาน และยาฉีดโดยมีหลักในการพิจารณาคือ ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกินร้อยละ 20 ของพื้นผิวของร่างกายให้เลือกใช้ยาทาก่อน ถ้าผื่นผิวหนังอักเสบเกินร้อยละ 20 ของพื้นผิวของร่างกายให้ใช้ยารับประทาน หรือฉายแสงอัลตราไวโอเลต ยาทาที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
1. ยาทาสตีรอยด์ เป็นยาที่ใช้รักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบ่อยที่สุด ยาทาสตีรอยด์อาจอยู่ในรูปครีม ขี้ผึ้ง เจลหรือสารละลาย (Solution) การเลือกใช้ยาทาสตีรอยด์ชนิดใด ในรูปใดมีหลักพิจารณาดังนี้
ผื่นหนา เป็นตามแขนขา มือหรือเท้าใช้ยาทาสตีรอยด์ฤทธิ์แรงในรูปขี้ผึ้ง
ผื่นบางหรือเป็นบริเวณหน้า ข้อพับต่างๆ ใช้ยาทาสตีรอยด์ฤทธิ์อ่อนหรือแรงปานกลาง ควรเลือกยาทาสตีรอยด์รูปครีมไม่ควรใช้ในรูปขี้ผึ้งเพราะมีฤทธิ์แรงเกินไปและเหนียวเหนอะหนะ
ผื่นที่ศีรษะหนาให้ใช้ยาทาสตีรอยด์ฤทธิ์แรงในรูปครีมเหลวหรือครีมน้ำนม(Milky lotion) ถ้าผื่นที่ศีรษะมีลักษณะบางใช้ยาทาสตีรอยด์รูปน้ำ(Solution) จะซึมเข้าถึงหนังศีรษะได้ดียาทาสตีรอยด์รูปขี้ผึ้งไม่เหมาะกับหนังศีรษะเพราะเหนอะหนะ และทาให้ถึงหนังศีรษะได้ยากเพราะติดเส้นผม
ข้อดีของยาทาสตีรอยด์ คือ ทำให้ผื่นยุบได้เร็ว ใช้ง่าย หาซื้อได้ทั่วๆ ป
ข้อด้อยของยาทาสตีรอยด์ เมื่อใช้ทานานๆจะเกิดภาวะดื้อยา เมื่อผื่นยุบลงถ้าหยุดยาทันทีผื่นมักกลับเป็นใหม่ได้เร็วและรุนแรงขึ้น อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ง่าย การใช้ยาทาสตีรอยด์ที่มีฤทธิ์แรงเป็นเวลานานๆ ยาจะถูกดูดซึมได้มาก และกดการทำงานของต่อมหมวกไต มีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ของร่างกายเหมือนกับการรับประทานยาสตีรอยด์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีผื่นผิวหนังอักเสบเป็นพื้นที่กว้าง หรือมีผื่นในบริเวณข้อพับ หน้าและบริเวณอวัยวะเพศ การใช้ยาสตีรอยด์จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาทาเองโดยไม่มีความรู้เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ยาสตีรอยด์ชนิดรับประทานและฉีดเป็นข้อห้ามใช้ในโรคสะเก็ดเงิน เพราะจะทำให้โรครุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองหรือโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงทั่วตัว ยา
สตีรอยด์ชนิดรับประทานจะทำให้ผื่นดีขึ้นในระยะแรกที่เริ่มรับประทานเท่านั้นเมื่อรับประทานไปนานๆหรือหยุดยาเมื่อผื่นดีขึ้น โรคสะเก็ดเงินจะกำเริบกลับขึ้นมาใหม่และมักจะรุนแรงมากกว่าเดิม ผู้ป่วยและญาติจึงควรระมัดระวังไม่ไปซื้อยารับประทานเองเพราะยาแก้แพ้ชนิดรับประทานที่ร้านขายยาจัดให้หรือแม้แต่ยาหม้อ ยาลูกกลอนยาจีน ยาสมุนไพรต่างๆ ก็อาจมียาสตีรอยด์ผสมอยู่
2.ยาทากลุ่มน้ำมันดิน (Crude coal tar or wood tars) เป็นสารเคมีพวก Hydrocarbon ที่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน หรือต้นไม้ที่ตายทับถมกันมานาน สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินหายได้ กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้ยังไม่ทราบแน่ ปัจจุบันน้ำมันดินที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินมีหลายรูปแบบและมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาดังนี้
แชมพูผสมน้ำมันดิน (Tar shampoo) บางครั้งมีการผสม Salicylic acidในแชมพูที่มีน้ำมันดิน เพื่อช่วยลอกสะเก็ดหนาบนศีรษะ น้ำมันดินที่ผสมอยู่ในแชมพู ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินของหนังศีรษะและโรคขี้รังแคทั่วๆไปได้ด้วยน้ำมันดินผสมอยู่ใน Petrolatum ในความเข้มข้นร้อยละ 2-5 ใช้รักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินที่หนาได้ผลดี โดยเฉพาะผื่นหนาที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า
ข้อดีของยากลุ่มน้ำมันดิน คือเมื่อยาออกฤทธิ์ทำให้ผื่น หรือ ปื้น ผิวหนังอักเสบ สงบลง เมื่อผื่นผิวหนัง อักเสบสงบลงมักสงบไปได้ยาวนาน การกลับเป็นซ้ำใหม่เกิดได้แต่ช้ากว่าเมื่อใช้ยาทาสตีรอยด์
ข้อด้อยของยากลุ่มน้ำมันดิน ยานี้ไม่มีบริษัทผลิตสำเร็จรูปขายในห้องตลาดเมืองไทย จะหาซื้อยานี้ได้จากโรงพยาบาลใหญ่ๆทั่วไป ยกเว้น แชมพูผสมน้ำมันดินที่มีผู้ผลิตออกขายในท้องตลาดหลายบริษัท ครีมที่ผสมน้ำมันดิน มีสีและกลิ่นไม่น่าใช้ ผู้ป่วยบางรายทนกลิ่นยาไม่ได้ ข้อด้อยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ยาออกฤทธิ์ช้าไม่ทันใจผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาทากลุ่มนี้จึงต้องให้เวลานานเป็นสัปดาห์ก่อนที่จะเห็นผลของยา ตำแหน่งที่ไม่ควรใช้ยากลุ่มน้ำมันดินคือ บริเวณหน้า และอวัยวะเพศ เพราะผิวหนังบริเวณนี้บาง เกิดการระคายเคืองได้ง่าย
3.ยากลุ่มแอนทราลินหรือดิทรานอล (Anthralin or Dithranol)
แอนทราลิน เป็นสารเคมีกลุ่ม Hydroxyanthrones สกัดจากผลไม้ประเภทถั่ว (Legume) ที่เรียกว่า Vouacopoura araroba พบในทวีปอเมริกาใต้และเอเชียใต้ สารสกัดจากพืชชนิดนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ต่อมาพบว่ามีฤทธิ์รักษาโรคสะเก็ดเงิน สารในกลุ่มนี้ชนิดแรกที่นำมารักษาโรคสะเก็ดเงินคือ Chrysarobin ต่อมาบริษัท Bayer ในประเทศเยอรมันได้สังเคราะห์สารชนิดหนึ่งที่มีสารโครงสร้างคล้าย Chrysarobin เรียกว่า Cignolin มีฤทธิ์ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ผลดี ประเทศแถบยุโรป เรียก Cignolin ว่า Dithranol ประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Anthralin
กลไกการออกฤทธิ์
กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจน ยามีฤทธิ์กดการสร้าง mitochondrial DNA ลดการหมุนเวียนของเซลล์ จึงมีฤทธิ์กดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กดการอักเสบโดยห้ามการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว(Neutrophil,Monocyte) ยานี้จึงใช้ได้ผลดีในผื่นของโรคสะเก็ดเงิน ยาแอนทราลิน มีใช้กันอยู่ในรูปขี้ผึ้ง ครีมหรือ zinc paste ความ เข้มข้นร้อยละ 0.05-4 เนื่องจากยานี้ระคายผิวหนังมากไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ที่บริเวณหน้า ข้อพับต่างๆ การทายาต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกผิวหนังปกติ นอกจากนี้ยายังเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอนและล้างออกยาก ปัจจุบันมีบริษัทได้ผลิตยาแอนทราลินละลายในครีมไขมันที่เป็นของแข็งในอุณหภูมิห้องเมื่อทาลงบนผิวหนังครีมนี้จะปล่อยยาแอนทราลินออกสู่ผิวหนัง ครีมชนิดนี้สามารถล้างน้ำออกได้ง่าย เทคนิคการทายาแอนทราลินให้เกิดผลข้างเคียงน้อย คือ ใช้ยาในรูปที่ละลายน้ำ (Water soluble vehicle) ทาบนผื่นสะเก็ดเงินทิ้งไว้นาน 10-30 นาทีแล้วล้างออก ถ้าไม่พบอาการระคายเคืองก็ค่อยๆเพิ่มเวลาทายาครีมแอนทราลินให้นานออก เทคนิคนี้ช่วยลดผลข้างเคียงของยาแอนทราลินได้ ช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้ายาครีมแอนทราลินมาจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ผลการรักษาด้วยยานี้ใช้เวลานานกว่ายาสตีรอยด์ ราคายาสูง แต่ยานี้ใช้ได้ผลดีกับปื้นผิวหนังอักเสบของโรคสะเก็ดเงินที่หนาๆ
ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาแอนทราลิน มีดังนี้
ผื่นโรคสะเก็ดเงินที่เป็นปื้นหนา (Stable chronic plaque type of psoriasis) ปื้นหนาของโรคสะเก็ดเงินที่ศีรษะ
การใช้ยาครีมแอนทราลินควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาลที่มีความรู้เรื่องยา

ข้อควรระวังในการใช้ยาทาแอนทราลิน
ไม่ควรใช้กับผื่นโรคสะเก็ดเงินที่แดงและมีน้ำเหลืองเพราะยามีฤทธิ์ระคายเคืองอาจทำให้โรคกำเริบกลายเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองกระจายทั่วตัว
ไม่ควรใช้กับผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณ หน้า คอ ข้อพับ ขาหนีบ อวัยวะเพศ เพราะเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
ไม่ใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอนทราลิน
4. Salicylic acid เป็นกรดผสมอยู่ในครีมหรือขี้ผึ้งมีฤทธิ์ช่วยลอกสะเก็ด ขุย บนผื่นสะเก็ดเงิน ความเข้มข้นที่มีใช้อยู่ในรูปครีมSalicylic 2-5%หรือขี้ผึ้ง 5-10% ใช้ทาผื่นสะเก็ดเงินที่หนาๆ จะช่วยลดขุยและลอกสะเก็ดบนผื่นของโรคสะเก็ดเงินช่วยให้ยาทาชนิดอื่นซึมผ่านเข้าผิวหนังได้ดี ยานี้เหมาะที่จะใช้ในบริเวณศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ที่ผื่นหนามาก ไม่ควรใช้บริเวณข้อพับและในเด็ก เพราะกรด Salicylic อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนเกิดพิษ
5. ยาทากลุ่มอนุพันธุ์ของวิตามิน ดี3 (Calcipotriol) เป็นสารในกลุ่มวิตามิน D3 ออกฤทธิ์เหมือน ๆ กัน Calcipotriol มีทั้งในรูปครีม ขี้ผึ้ง หรือ Solution เป็นสารที่ไม่มีสีหรือกลิ่นเหม็น จึงแก้ปัญหาของ ยากลุ่มน้ำมันดินและแอนทราลินไปได้
กลไกการออกฤทธิ์
สารในกลุ่มวิตามิน D3, Calcipotriol ออกฤทธิ์กดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและทำให้เซลล์ผิวหนังเจริญสมบูรณ์ (Terminal differentiation) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยลดการสร้างสารสื่อกลาง(Chemical mediator)
ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาทา Calcipotriol มีดังนี้
ใช้ทาผื่นของโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาโดยทาวันละ 2 ครั้ง ไม่ควรใช้ยานี้ในรูปขี้ผึ้งที่บริเวณใบหน้า ข้อพับ เพราะเหนอะหนะ และระคายเคืองผิวหนังง่าย ควรเลือกใช้ยา Calcipotriolในรูปครีมจะช่วยลดผลข้างเคียงดังกล่าวได้ ผลการรักษาที่ชัดเจนใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ แพทย์จึงควรต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบก่อนใช้ จำนวนยาที่ใช้ไม่ควรเกิน 100 กรัม/สัปดาห์
ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินของหนังศีรษะ มีการศึกษาทดลองใช้ Calcipotriol solution รักษาโรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะพบว่าได้ผลในบางราย รายที่ผื่นบนศีรษะมีสะเก็ดหนามากควรต้องลอกสะเก็ดออกก่อนโดยการหมักหนังศีรษะด้วยน้ำมันมะกอก หรือใช้กรด Salicylic รูปครีม หรือขี้ผึ้งทาลอกสะเก็ดที่หนังศีรษะก่อนทา Calcipotriol
ข้อควรระวังในการใช้ยา Calcipotriol
ข้อควรระวังคือยานี้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังปกติที่อยู่รอบๆ ผื่น หรือทำให้ผื่นแดงขึ้นได้ จึงควรแนะนำผู้ป่วยให้หยุด ลดจำนวนครั้งที่ทายา หรือทายาให้บางลง เมื่อเกิดอาการแดงขึ้นภายหลังจากที่ทายา เมื่อลดจำนวนครั้งที่ทาหรือลดจำนวนยาทาที่ใช้แล้วยังมีอาการแดง แสบ ระคายเคืองที่ผื่นก็ควรเปลี่ยนไปใช้ยาทาชนิดอื่น ปัญหาสำคัญของยา Calcipotriol อีกอย่างหนึ่งคือราคายาค่อนข้างสูง
6.ยาทากลุ่มเรตินอล เป็นที่ทราบกันดีว่าวิตามินเอ มี
บทบาทในการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังจึงมีการศึกษาทดลองและนำวิตามินเอตามธรรมชาติมาใช้รักษาโรคผิวหนังที่มีสะเก็ดหนา พบว่าผลข้างเคียงของยาในรูปรับประทานสูง ต่อมาจึงมีการสังเคราะห์ยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอขึ้นมีทั้งในรูปรับประทานและทาเฉพาะที่ ได้มีการนำยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ มาใช้ในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิดเช่น สิว ฝ่ามือฝ่าเท้าหนา รวมทั้งโรคสะเก็ดเงินด้วย ยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinol) เริ่มมีการศึกษาและนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบ้างแล้ว ผลการรักษายังอยู่ในระยะศึกษาทดลอง และยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยจึงจะไม่กล่าวถึงในรายละเอียดในที่นี้ ยานี้มีชื่อว่า Tazarotene สำหรับยาอนุพันธุ์วิตามินเอในรูปรับประทานมีการนำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมานานจะได้กล่าวถึงต่อไปในหัวข้อยารับประทาน

7.ยาทาให้ผิวชุ่มชื้น (Emollients)
ผื่นผิวหนังอักเสบของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะไวต่อปัจจัยกระตุ้นภายนอกมากเปรียบเหมือนกับคนที่กำลังโกรธถ้ามีอะไรมากระทบจะเกิดอาการอาละวาดฟาดหางกับผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่ผื่นของโรคกำลังอักเสบแดง นอกจากการใช้ยาทารักษาอาการอักเสบของผิวหนังแล้ว ควรทายาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังบ่อยๆด้วยเพื่อเป็นการช่วยลดอาการระคายเคือง และลดการอักเสบของผื่นผิวหนังลงไปได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา http://www.si.mahidol.ac.th/project/psoria/index.asp

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก